วันพุธที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ปลูกผักไร้ดินอย่างประหยัด


ร้อนแล้ง คือภาวะที่อุณหภูมิพุ่งสูง ฝนฟ้าไม่ตก ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ หรือคุณภาพเลวเป็นทะเลทราย มนุษย์จะปลูกพืชผักอย่างไร
คำถามนี้ในอดีตก็คงจะมึนตึ๊บกัน แต่ในปัจจุบันมีคำตอบแล้วว่า
ปลูกในระบบไฮโดรโปรนิกส์ ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ที่ให้ความสนใจกันอย่างกว้างขวาง ทั้งที่ทำกันเป็นงานอดิเรกและเป็นอาชีพ
การปลูกผักไร้ดินในระบบไฮโดรโปรนิกส์ สามารถปลูกได้ 2 ลักษณะ คือ
การใช้ระบบปั๊มอากาศกับไม่ใช้ระบบปั๊มอากาศ
ระบบปั๊มอากาศ 
ข้อดีนั้นคือ การปลูกง่ายและสะดวก ไม่ต้องเป็นห่วงกังวลเรื่องระบบรากพืชจะขาดออกซิเจน (หากรากขาดออกซิเจนจะทำให้เกิดอาการใบเหลืองและผลร่วง) พืชที่เหมาะสมกับระบบนี้ ได้แก่ มะเขือเทศ แตงต่างๆและผักกินใบทุกชนิด
แต่ใช้เงินทุนสูง
การไม่ใช้ระบบปั๊มอากาศ 
ผู้ปลูกจะต้องมีความรู้ความชำนาญในการปรับ หรือลดระดับสารละลายของธาตุอาหารที่ใช้ในการเลี้ยงรากพืช ตามขนาดของพืชที่ปลูก ผักที่เหมาะสมในการปลูกระบบนี้คือ ขึ้นฉ่าย ผักบุ้งจีน
ใช้เงินทุนถูกกว่าระบบแรก
การปลูกพืชแบบในระบบไฮโดรโปรนิกส์ จึงเป็นการยุ่งยากและต้องลงทุนสูง
น.ส.มะลิวัลย์ ธนะสมบัติ จากสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และทีมงาน ได้ คิดค้นและพัฒนา ชุดปลูกผักไร้ดินในระบบไฮโดรโปรนิกส์ เพื่อให้เกษตรกรหรือประชาชนทั่วไปสามารถซื้อได้ในราคาประหยัด และสะดวกในการจัดวางบริเวณที่พักอาศัย สามารถดูแลได้โดยง่าย
ชุดปลูกพืชไร้ดินในระบบไฮโดรโปรนิกส์ Hydro 55-type
สามารถปลูกผักได้จำนวน 55 ต้นต่อรอบการเก็บเกี่ยว ต้นทุนรวมอยู่ที่ 3,000 บาท ซึ่งถูกกว่าชุดปลูกพืชไร้ดินที่มีอยู่ทั่วไปตามท้องตลาด เนื่องจาก
วัสดุที่นำมาทำรางในการวางระบบน้ำ หาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาดทั่วไป
สารละลายธาตุอาหารที่ใช้ในการปลูกพืช มีปริมาณความเข้มข้นของสารละลายธาตุอาหารเหมาะสมกับพืชแต่ละชนิด
ใช้น้ำไม่มากนัก เป็นการประหยัดน้ำได้เป็นอย่างดี
การควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น ความเข้มของ แสง ความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำ หรือการควบคุมดูแลในเรื่องโรคและแมลงที่จะมารบกวนผลผลิต
สามารถจัดการได้สมบูรณ์ ถูกต้องมากที่สุด
 ส่งผลให้ต้นพืชเจริญงอกงามและให้ผลผลิตที่ดี
ในส่วนรวมภาพรวมของชุดปลูกพืชไร้ดินในระบบไฮโดรโปรนิกส์ Hydro 55-type มีข้อดีคือ
สามารถปลูกพืชได้ทุกพื้นที่ เช่นบนหลังคาตึก ระเบียงบ้าน หรือจะนำไปปลูกในห้องนอนก็สามารถทำได้ เพราะใช้เนื้อที่เพียงเล็กน้อย
ใช้เวลาเก็บเกี่ยวสั้น
โรคพืชและแมลงเกิดน้อยมาก
ที่สำคัญประหยัดแรงงาน

น.ส.มะลิวัลย์ ธนะสมบัติ กล่าวอีกว่า การปลูกนี้ถือว่ามีข้อเสียอยู่บ้าง เช่น
ต้นทุนการติดตั้งระบบครั้งแรกค่อนข้างสูง
ผู้ปลูกต้องดูแลอย่างใกล้ชิด และต้องมีความรู้ความเข้าใจการจัดการเกี่ยวกับการปลูกในระบบนี้
หากไม่เข้าใจหรือปลูกแบบปล่อยทิ้ง เมื่อเกิดโรคพืช และแมลงระบาดจะรวดเร็วและควบคุมได้ยาก
ชุดปลูกผักไร้ดินนี้ถือว่า เป็นนวัตกรรมให้แก่ผู้ที่รักสุขภาพและสร้างความสนุกสนานให้กับชีวิตคนเมือง ที่จะทดลองปลูกพืชผักไว้ บริโภคด้วยความภาคภูมิใจแก่ตนเอง
ผู้สนใจสามารถติดต่อไปได้ที่
หน่วยปฏิบัติ การเทคโนโลยีชีวภาพเพื่ออุตสาหกรรม ฝ่ายนาโนเทคโนโลยีและเทคโนโลยีชีวภาพ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ หรือกริ๊งกร๊างที่ 02-9428600-3 ในเวลาราชการ.
ไชยรัตน์ ส้มฉุน
ไทยรัฐ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น