วันเสาร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เกษตรในเมืองกับการบริโภคที่ยั่งยืน


การปลูกผักกินเอง หรือการทำเกษตรในเมืองนั้น ไม่เพียงช่วยทำให้เรามีอาหารที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพกินเท่านั้น ทว่ามีประโยชน์เชื่อมโยงกับความมั่นคงทางอาหารและการบริโภคที่ยั่งยืน

ดร.จำเนียร วรรัตน์ชัยพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
ได้อธิบายถึงความเชื่อมโยงเรื่องเกษตรในเมืองกับความมั่นคงทางอาหารและการบริโภคที่ยั่งยืนไว้อย่างน่าสนใจว่า
ความมั่นคงทางอาหารที่ว่านี้มิได้หมายถึงว่าเรามีอาหารกินหรือไม่ แต่หมายถึงการมีอาหารที่มีคุณภาพ และเป็นอาหารที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และไม่ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพด้วย เรียกว่าเป็นความมั่นคงทางอาหารที่นำไปสู่การบริโภคที่ยั่งยืน
ถามว่าการบริโภคที่ยั่งยืนควรมีลักษณะ และเกี่ยวข้องกับเกษตรในเมืองอย่างไร
ดร.จำเนียร ได้กล่าวอย่างละเอียดว่า
1. เราต้องรู้ว่าแหล่งผลิตมาจากไหน วิถีการผลิตทำลายสิ่งแวดล้อมหรือไม่
ไม่ว่าจะเป็น ทำลายดิน ทำลายน้ำ ทำลายอากาศ รวมถึงทำลายผู้คน
2. ระยะทางในการขนส่งอาหารจากแหล่งที่มานั้นไกลเพียงใด
หากเป็นอาหารนำเข้าจากเมืองนอก ซึ่งหลายคนคิดว่าหรูดีมีคุณภาพ แต่ยิ่งระยะทางในการขนส่งไกลแค่ไหน ก็ยิ่งทำให้ใช้พลังงานในการขนส่งสูง มีส่วนทำลายสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดโลกร้อนได้มากเท่านั้น
ดังนั้นใครที่ปลูกผักไว้ที่บ้าน สามารถช่วยลดระยะทางการขนส่งอาหารได้มาก เพียงเดินมาเก็บไปทำกับข้าวก็ได้แล้ว ถือว่ามีส่วนช่วยลดการใช้พลังงานได้ไม่น้อย
3. การเก็บรักษาผลผลิต
ปัจจุบันคนส่วนใหญ่มักไปจ่ายตลาดในห้าง และห้างก็ใช้อุณหภูมิต่ำในการเก็บรักษา อีกทั้งยังใช้บรรจุภัณฑ์ต่างๆในการห่อหุ้ม ตั้งแต่พลาสติก ฟรอยด์ โฟม กระดาษ ซึ่งล้วนผลิตมากจากน้ำมันดิบ ปิโตรเคมีทั้งสิ้น
ดังนั้นเกษตรในเมืองจึงมีส่วนช่วยให้ไม่ต้องมีการเก็บรักษามาก เพราะสามารถไปเก็บได้จากข้างบ้าน เด็ดกันสดๆ เท่าที่จำเป็น ไม่ต้องใส่ถุงพลาสติก
ทำให้เราได้รับประทานอาหารสดๆ ซึ่งมีคุณค่ามากกว่าอาหารที่แช่เย็น มีรสชาติที่อร่อยกว่า และปลอดภัยจากสารเคมีซึ่งมีร้านค้าจำนวนไม่น้อยใส่ลงไปเพื่อรักษาความสด
4. ส่วนที่เหลือจากการกิน
บางบ้านอาจจะนำไปใช้ทำปุ๋ย หรือทำไบโอแก๊สได้อีกด้วย
            ดร.จำเนียร ยังเน้นย้ำว่า
            การพัฒนาเมืองไม่น่าจะเป็นการพัฒนาให้เป็นสังคมที่บริโภคเท่านั้น แต่ต้องเป็น
สังคมที่ผลิตด้วย
           ไม่เป็นเพียงสังคมที่ผลิตเพื่อการค้าเท่านั้น แต่ควรผลิตเพื่อบริโภคเองด้วย แม้จะไม่ 100 % ก็ตาม
เพื่อประโยชน์ด้านต่างๆที่กล่าวมา รวมถึงประโยชน์เรื่องการใช้ที่ดินและทรัพยากรอย่างคุ้มค่าด้วย
วารสารเกษตรธรรมชาติ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น